
พวกเราเป็นนักเล่าเรื่อง
คุณรูู้จักนักเล่าเรื่องไหม? หากคุณเป็นหนึ่งคนที่ชอบดูหนัง คุณเคยสงสัย หรือมีความสนใจเกี่ยวกับคนที่เขาสร้างภาพยนตร์เหล่านี้ขึ้นมาหรือเปล่า กลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์นั้นมีความพิเศษอย่างไรถึงได้สร้างภาพและเล่าเรื่องที่อยู่ในจินตนาการของพวกเขา และถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าสนใจ และผลงานของพวกเขาเหล่านั้นยังได้รับความนิยม และเป็นสิ่งที่เราหลายคนชื่นชอบอีกด้วย
ขั้นตอนของการทำหนังนั้นมีมากมาย แต่จุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดหนังหนึ่งเรื่องขึ้นมาได้นั้น คือการที่เรามีเรื่องราวที่อยากจะเล่า การเล่าเรื่องนั้นมีหลายรูปแบบทั้ง การเล่าเรื่องผ่านการเขียน การพูด การวาดภาพ และการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์ ซึ่งภาพยนตร์นั้นถือเป็นการเล่าเรื่องที่ครบถ้วน สมบูรณ์ เพราะทั้งหมดนั้นมีทั้งภาพ เสียง และเนื้อหา ทำให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจ และรู้สึกตามไปกับเรื่องราวของภาพยนตร์นั้น ๆ

ฉันเคยมีโอกาสได้เข้าร่วมการสัมมนาที่มีวิทยากรเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังของเมืองไทย และฉันรู้สึกประทับใจช่วงหนึ่งของประโยคจาก คุณนนทรีย์ นิมิตบุตร(ผู้กำกับภาพยนตร์) บอกว่า “พวกเราไม่ใช่ผู้กำกับ แต่เราเป็นนักเล่าเรื่อง” คำพูดของเขาในตอนนั้นทำให้ฉันได้เข้าใจถึงเป้าหมายของผู้กำกับและทีมผู้สร้างภาพยนตร์หลายท่านที่ตั้งใจทำภาพยนตร์แต่ละเรื่องออกมาเพื่อให้พวกเราได้ดูกัน พวกเขาต้องการที่จะเล่าเรื่องเพื่อบอกอะไรบางอย่างผ่านเรื่องราวนั้น และมากกว่าการบอกเล่าแบบทื่อ ๆ พวกเขายังได้เพิ่มมุมมองที่แตกต่างลงไปในเรื่องราวนั้นเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ ทำให้เราได้เข้าใจเรื่องราวที่เราทุกคนต่างก็รู้จักกันอยู่แล้วต่างออกไปจากเดิม

การที่นักเล่าเรื่องจะเล่าเรื่องออกมาได้อย่างดีนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย
ต้องอาศัยระยะเวลา ความรู้และประสบการณ์ หลายคนคงได้เห็นว่าการเล่าเรื่องราวของหนังนั้นมีหลายวิธี หรืออย่างที่เข้าใจกันว่า แนวของหนัง (Genre) นั่นเอง ซึ่งเราจะได้พูดถึงในบทความถัดไป เกร็ดเล็ก ๆ ที่อยากจะนำมาเล่าให้ทุกคนที่รักการดูหนังละมีจินตนาการฟังในตอนนี้คือ การจัดเรียง story board ของหนัง เชื่อว่าหลายคนคงเลยได้ยินคำว่าองค์ประกอบของหนังนั้นมี 3 องค์ ซึ่งแบ่งเป็นตอนต้นเรื่อง กลางเรื่อง และส่วนท้ายของเรื่อง
ในส่วนต้นเรื่องของหนังนั้นจะเป็นเล่าเรื่องถึงจุดเริ่มต้นต่าง ๆ ของหนัง เป็นส่วนที่ทำให้เราได้เข้าใจภาพรวมและทำความรู้จักกับตัวละครในเรื่องนั้น ๆ ด้วย
ส่วนกลางของเรื่องเป็นส่วนที่เราสามารถใส่สิ่งที่สำคัญลงไปได้ เช่น ปมปัญหาของเรื่อง จุดที่ดีใจที่สุด หรือเสียใจที่สุด เป็นส่วนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ส่งมาจากส่วนต้นเรื่อง
และส่วนท้ายของเรื่องนั้นเป็นตอนที่จะต้องเล่าเรื่องคลี่คลายปมของปัญหาทั้งหมด เรื่องของหนังจะต้องจบลงในส่วนนี้ ซึ่งการจบลงนั้นก็อาจทิ้งเรื่องราวไว้เป็นปลายเปิดเพื่อให้เหล่าคนดูนำกลับไปคิดหลังจากที่หนังจบแล้วก็ได้

การนำเสนอเรื่องนั้นไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับตาม 1-2-3 เสมอไป เราสามารถเรียงลำดับในการเล่าเรื่องใหม่เพื่อให้น่าสนใจมากขึ้น หากได้ลองสังเกตดูหนังหลาย ๆ เรื่องจะเห็นว่าไม่ได้เปิดเรื่องด้วยฉากที่เป็นจุดเริ่มต้นเสมอไป หนังบางเรื่องเอาฉากจบขึ้นมาในตอนเริ่มต้น แล้วจึงย้อนกลับไปเล่าถึงที่มาของตอนจบนั้น(3-1-2-3) บางเรื่องเอาส่วนกลางของเรื่องขึ้นมาก่อน(2-1-2-3) ซึ่งเป็นปมที่ทำให้ชวนติดตาม ทำให้ผู้ชมสนใจที่จะรู้เรื่องราวนั้นมากขึ้น การจะเลือกวิธีเล่าเรื่องในรูปแบบต่าง ๆ นั้น ล้วนขึ้นอยู่กับผู้เล่าว่าต้องการให้ภาพยนตร์นั้นเป็นอย่างไร และอย่างที่บอกไปในตอนแรกว่าขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ ซึ่งไม่ใช่เพียงผู้กำกับคนเดียว แต่ทุกคนที่มีส่วนทำให้ภาพยนตร์นั้นเสร็จสมบูรณ์ล้วนแต่เป็น “นักเล่าเรื่อง” ด้วยกันทั้งสิ้น การเขียนก็เป็นหนึ่งในวิธีเล่าเรื่อง ที่ได้เอาสิ่งเหล่านี้มาเขียนเพื่อให้ทุกคนที่มีความสนใจในภาพยนตร์ได้รู้จักกับภาพยนตร์มากขึ้น ภาพยนตร์เป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและจินตนาการ ฉันเชื่อว่ายังมีนักเล่าเรื่องฝึกหัดอีกมากมายที่อยากให้เรื่องราวของตนเองได้เป็นที่รู้จัก ขอเพียงทุกคนไม่หยุดที่จะจินตนาการและเล่าเรื่อง โอกาสนั้นจะมาถึงได้ในสักวัน อ่านบทความที่น่าสนใจ readdoo