
ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักภาพยนตร์เรื่อง Father ทางเรามีคำถามถึงคุณสักข้อ คุณให้นิยามของความรักว่าอย่างไร?
คนเราอาจนิยามความรักแตกต่างกันออกไป บ้างก็ว่าความรักคือสิ่งที่สวยงาม บ้างก็ว่าความรักคือสิ่งที่เลวร้าย สามารถทำลายความรู้สึกของมนุษย์เราให้แตกสลายได้ภายในพริบตาเพียงแค่เรามีรัก ดั่งคำเปรียบเปรยที่ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” แต่ถ้าหากเราไม่มีรัก เราจะไม่มีทุกข์อย่างงั้นหรือ? อย่างไรก็ตามมนุษย์คือสัตว์สังคมที่ถูกกำหนดให้มีชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มมาตั้งแต่แรก เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการปราศจากความรักที่ได้รับมาจากครอบครัว จากเพื่อนฝูง หรือจากคนรัก ได้หรือไม่ แล้วถ้าหากว่าเรามีรัก เราสามารถทำเพื่อคนที่เรารักได้มากแค่ไหน

Readdoo จะขอยกตัวอย่างความรักของครอบครัวหนึ่ง ผ่านภาพยนตร์เรื่อง Father
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ปรากฏสู่สายตาผู้คน เมื่อปี พ.ศ. 2559 เป็นภาพยนตร์เก่าที่ถึงแม้จะผ่านมานานถึง 5 ปีแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกอบอุ่นหัวใจทุกครั้งที่นึกถึง
ภาพยนตร์ Father นำแสดงโดยนักแสดงที่มากความสามารถอย่าง อัษฎา พานิชกุล รับบทเป็น ฝุ่น ณัฐ ศักดาทร รับบทเป็น ยุกต์ ตัวหนังถ่ายทอดเรื่องราวความรักระหว่างชายสองคนที่มีความต้องการที่จะแต่งงานกันและอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว เมื่อแต่งงานกันแล้ว การที่จะทำให้ครอบครัวเป็นครอบครัวได้นั้น ต้องมีโซ่ทองคล้องใจคือลูก พวกเขาทั้งสองเลยตัดสินใจที่จะรับเลี้ยง น้องบุตร (น้องฮิม) เด็กจากบ้านเด็กกำพร้า ตั้งแต่ยังเด็ก ถึงแม้ว่าน้องบุตรจะเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีแม่ แต่น้องบุตรก็ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ได้รับความรักอย่างล้นหลามจากพ่อทั้งสองของเขา เป็นความรักที่แม้ไม่ได้ร้องขอก็เต็มใจที่จะมอบให้ลูก ซึ่งตรงนี้ถือว่าหนังเรื่อง Father ถ่ายทอดเรื่องราวของความรักและครอบครัวออกมาได้ดีที่เดียว เพราะทั้งฝุ่น และยุกต์ต่างที่หน้าที่ทั้งพ่อและแม่อย่างดีที่สุด ไม่ให้น้องบุตรต้องรู้สึกว่าขาดความรักจากผู้เป็นแม่เลยสักนิดเดียว แต่ภาพยนตร์ Father ก็ได้ถ่ายทอดอีกอารมณ์หนึ่งของหนังออกมา เนื่องด้วยวันเวลาก็ล่วงเลยผ่านไป น้องบุตรก็เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น เขาเริ่มสงสัยว่า “ทำไมเขาถึงมีพ่อตั้ง 2 คน ไม่เหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ ที่มีทั้งพ่อ และแม่” โดยความสงสัยเริ่มต้นมาจาก การที่โรงเรียนจัดงานวันแม่ที่โรงเรียน บุตรสังเกตุเห็นว่ามีเพียงเขาคนเดียวที่ไม่มีแม่เหมือนคนอื่น อีกทั้งยังโดนเพื่อนห้องเดียวกัน Bully ว่าพ่อของตนนั้นเป็นชายรักชาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในสังคมตอนนั้น ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ระหว่างน้องบุตรและเพื่อน จนเรื่องนี้ถึงทางผู้ปกครองทั้ง 2 ฝ่าย แต่เมื่อกลับบ้าน ทั้งฝุ่นและยุกต์เลือกที่จะคุยกันและปรับความเข้าใจกับน้องบุตร แทนการด่าทอหรือตบตี ทำให้น้องบุตรรู้สึกสบายใจและเชื่อใจในการที่จะเล่าปัญหาให้ฟัง ฉากตรงนี้ หนังเรื่อง Father แสดงให้เห็นว่า ทั้งฝุ่นและยุกต์มีความเป็นพ่อที่สูงมาก ใช้เหตุผลในการพูดคุยกับลูก และแสดงความรักอย่างอ่อนโยน แต่เรื่องราวของภาพยนตร์ Father ก็ไม่ได้จบแค่นั้น เมื่อรัตติยา (สินจัย เปล่งพานิช) ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองสิทธิเด็ก เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ โดยการได้พูดคุยกับน้องบุตร และตามหาแม่แท้ ๆ ของน้องบุตร เพื่อเติมเต็มสิ่งที่หายไปของน้องให้เต็ม ใช้เวลาเพียงไม่นานรัตติยาก็ตามหาแม่ของน้องบุตรได้สำเร็จ และทั้งสองครอบครัวก็ได้ทำการยื่นข้อเสนอโดยการที่จะให้น้องบุตรลองใช้ชีวิตอยู่กับแม่แท้ ๆ เพราะความรักที่สามารถทำเพื่อลูกได้ทุกอย่าง ทั้งสองจึงยอมเจ็บปวดให้ลูกได้ไปอยู่กับแม่ผู้ให้กำเนิด

หนังเรื่อง Father หนังเก่าเล่าใหม่ที่ดีจนอยากดูซ้ำอีกรอบได้เล่าเรื่องราวของสองครอบครัว ผ่านทางความรู้สึกของน้องบุตรเมื่อได้อาศัยอยู่กับแม่แท้ๆ อย่างที่ตัวเองใฝ่ฝันว่าจะมี ความรู้สึกของทั้งฝุ่นและยุกต์เมื่อต้องห่างจากลูกน้อยที่พวกเขาตั้งใจดูแล เลี้ยงดูมาเป็นอย่างดี ไม่เพียงเท่านี้ หนังยังสอดแทรกให้เห็นความรู้สึกเจ็บปวดของทั้งฝุ่นและยุกต์ที่ต้องทนต่ออคติของผู้คนในสังคม มีข้อคิดและทัศนคติที่ดีให้ได้คิดตาม และพูดถึงความสำคัญของพรบ.สมรสเท่าเทียมอีกด้วย ถือได้ว่าคุณ พลัฏฐ์พล มิ่งพรพิชิต ผู้กำกับของหนัง Father เรื่องนี้ ชูประเด็นครอบครัว ของกลุ่มคน LGBTQ+ ผ่านทางตัวละครทุกตัวได้ดีมากๆเลยทีเดียว อีกทั้งยังเป็นหนังที่เป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มคนเพศหลากหลายให้มีพื้นที่ในสังคมอย่างแท้จริง